ภาวะความเครียดของนักศึกษาแพทย์ ..... ฝุ่นที่ซุกอยู่ใต้พรม

ทุกคนทราบกันดีว่า การเรียนแพทย์เป็นการเรียนที่หนักเอาการ และก็ทราบกันดีว่า ทุกคนต้องทุ่มเท และต้องสามารถรับความเครียด ความกังวล การทำงานหนัก และการโดนกดดันจากการเรียนได้ เพราะมีความเชื่อว่า หากฝึกรับความเครียดได้ดีตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์เเล้ว จะทำให้สามารถรับภาวะกดดันต่างๆได้ดีเมื่อเป็นแพทย์ในอนาคต

แต่ปรากฏว่าในต่างประเทศ มีการพูดถึงเคสแพทย์จำนวนมาก ที่ไม่สามารถรับความกดดันในวิชาชีพได้ ทำให้เกิดภาวะทางจิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น anxiety neurosis, depression หรือ อาจจะลามถึงการฆ่าตัวตาย ในสหรัฐอเมริกา ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายของเเพทย์เป็นปัญหาใหญ่มาก เเต่ละปีจะมีเเพทย์ฆ่าตัวตาย 300-400 คน เเละอัตราการฆ่าตัวตายในแพทย์นั้นสูงกว่าประชากรทั่วไปอย่างชัดเจน เพศชายจะสูงเป็น 1.14 เท่าของค่าเฉลี่ยประชากรชาย เเละ เพศหญิงจะสูงเป็น 2.27 เท่าของค่าเฉลี่ยประชากรหญิง จนทำให้มีกระบวนการเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ สภาวิชาชีพ นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาดูแลปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับแพทย์อย่างเอาจริงเอาจัง

จากการสำรวจประชาชนที่มารับบริการ ในหัวข้อเกี่ยวกับ "แพทย์ที่พึงประสงค์" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังแพทย์ที่มีจิตใจดี โอบอ้อมอารี คาดหวังเเพทย์ที่ใจเย็น รับฟังปัญหา และสุภาพอ่อนโยน พร้อมที่จะดูแลคนไข้เเละญาติ ทั้งปัญหาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เเละความเครียดที่เกิดจากปัญหาทางกายดังกล่าว

ผลการวิจัยเหล่านี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แพทย์โดยทั่วไปเลย เพราะเเพทย์เองเมื่อมีความไม่สบายกายหรือไม่สบายใจก็อยากได้เเพทย์ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ จะหาเเพทย์ที่มีคุณลักษณะเต็มเปี่ยมเช่นนี้ได้จากที่ใด ขณะที่แพทย์ทั่วโลกเองยังได้รับความกดดันและความเครียดจากการทำงานหนักเช่นนี้ อันที่จริงเเพทย์ต้องปรับตัวให้เป็นคนเฉยชาต่อปัญหาเเละความเครียดตั้งเเต่เริ่มเป็นนักศึกษาแพทย์เเล้ว

ในประเทศไทยปัญหาอาจไม่ได้ใหญ่โตมาก ถึงขนาดมีอัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์ที่สูงเหมือนในต่างประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักศึกษาแพทย์เเละเเพทย์ของเรามีปัญหาทางด้านจิตใจมากพอสมควร นักศึกษาเเพทย์บางคนมีโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้ามากจนต้องเสียการเรียน เเละลาออกไป

มีงานวิจัย meta-analysis ในปี 2016 ได้เเสดงให้เห็นว่า ความชุกเฉลี่ยทั่วโลกของภาวะซึมเศร้าในนักศึกษาแพทย์นั้นสูงถึงร้อยละ 28 การศึกษานี้ยังพบว่า กลุ่มที่พบความชุกมากกว่ากลุ่มอื่นคือ นักศึกษาแพทย์หญิง กลุ่มที่เป็น Middle East กลุ่มนักศึกษาเเพทย์ชั้นปีต้นๆ เเละกลุ่มหลังปริญญาจะมีปัญหามากกว่ากลุ่มก่อนปริญญา

ในประเทศไทยมีการศึกษาในนักศึกษาเเพทย์มากพอสมควร เเละ ได้รายงานความชุกของความเครียดมาก หรือ morbid stress ไว้ค่อนข้างเเตกต่างกัน เช่น ร้อยละ 7.25- 55.8 ซึ่งอาจจะอยู่ที่นิยามที่ไม่เหมือนกันของเเต่ละการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการทำวิจัยเกี่ยวกับความเครียดของนักศึกษาเเพทย์ เเละอาจารย์เเพทย์ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อจะได้ทราบขนาดของปัญหา รับทราบเเนวทางการเเก้ปัญหาเบื้องต้นของเหล่านักศึกษาเเเพทย์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะได้วางเเผนเเก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบต่อไป

ขณะที่กำลังรองานวิจัยที่ได้มาตรฐานเพื่อพิสูจน์ปัจจัยเสี่ยง เเละเเนวทางเเก้ปัญาหาอยู่นี้ อาจารย์แพทย์ ทั้งที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทีม student support หรือไม่ก็ตาม น่าจะเริ่มตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และพยายามประคับประคองนักศึกษาแพทย์ที่เริ่มมีปัญหาต่างๆตั้งเเต่เนิ่นๆ เเนวทางป้องกันอาจจะเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่อบอุ่น อาจารย์สามารถเป็นที่พึ่งให้ได้ทั้งในเรื่องวิชาการ เเละเรื่องการใช้ชีวิต

อาจารย์ที่มีความสามารถทางด้านจิตปัญญาศึกษา หรือ cognitive psychology ต่างๆ อาจจะพิจารณาจัดคอร์สอบรมให้นักศึกษาแพทย์ ได้รู้จักตน รู้จักคน รู้จักสังคม รู้จักว่าคนมีได้หลากหลายแบบ และไม่มีใครที่สามารถยึดเอาความคิดของตน เป็นจุดศูนย์กลางหรือเป็นใหญ่ได้ตลอดเวลา การเรียนแพทย์เป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เรียนรู้ การจัดการกับความเครียด ความกดดัน ด้วยปัญญาที่สูงกว่าปฏิกิริยาธรรมชาติทั่วๆไป ที่จะออกมาในแง่ของความโกรธ ความเครียด ความหดหู่

หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เเละจัด student support system ได้ดีอย่างมืออาชีพเเล้ว น่าจะช่วยทำให้ อุบัติการณ์ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ในนักศึกษาแพทย์ลดน้อยลง ทำให้แพทย์ในอนาคตมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ทนแรงกดดันต่างๆในวิชาชีพแพทย์ได้ดีขึ้น และถ้าเป็นไปได้ ก็จะเป็นแพทย์ที่มี EQ ที่ดี เป็นที่พึ่งให้กับคนไข้  เป็นเเพทย์ที่ใจเย็น สุภาพ มีจิตใจโอบอ้อมอารี รับฟังคนไข้ และทำให้คนไข้ได้รับการรักษาทั้งตัวและหัวใจไปพร้อมๆกัน



CR:
1. https://www.youtube.com/watch?v=qyVAtZ9VZ4Q

2. https://afsp.org/our-work/education/physician-medical-student-depression-suicide-prevention/

3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26995484

4. http://www.dmh.go.th/abstract/details.asp?id=2258

5. http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1286

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม