การผลิตเเพทย์เพื่อชุมชน


     เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557  ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสได้ไปเเลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องการผลิตเเพทย์ในการประชุม เเพทยศาสตรศึกษาเเห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 ที่คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งทางผู้จัดได้เชิญให้ร่วมเป็น วิทยากร ใน Symposium 1 หัวข้อ Primary care: the health care for the society ซึ่งส่วนตัวรับผิดชอบนำเสนอ เรื่องการผลิตเเพทย์เพื่อชุมชน เพื่อตอบโจทย์ primary care

     การผลิตเเพทย์เพื่อชุมชนหรือ physician for community นี้ ได้นำเสนอไปหลายวาระโอกาส โดยพยายามเน้นใจความสำคัญคือ เเพทย์ที่จะอยู่ติดชุมชนได้นาน จะต้องได้รับการคัดเลือกเเละ training เป็นพิเศษ เเต่ที่ผ่านมา บ้านเรามีเเต่การคัดเลือกเป็นพิเศษ เเต่ยังไม่เคยมีการจัดให้ได้รับการ training เป็นพิเศษเลย บทความข้างล่างเป็นบทความที่อยู่ในเอกสารการประชุมข้างต้น จึงขอนำมาเสนอให้ได้อ่านกันใน blog นี้ด้วย

     การผลิตเเพทย์เพื่อชุมชน มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายประการ เเต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อผลิตเเพทย์เพื่อชุมชนออกไปเเล้ว เเพทย์คนนั้นจะต้องอยู่ในชุมชนได้อย่างเเท้จริง โดยอยู่ได้อย่างมีความสุข เเละ มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับชุมชนนั้นอย่างยั่งยืน

     ดังนั้นจึงเห็นว่า เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลิตเเพทย์ทุกภาคส่วน  ที่จะต้องคิดหากระบวนการผลิตเเพทย์เพื่อชุมชน เพื่อให้ได้คุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เเตกต่างจาก การผลิตเเพทย์ตามปกติในปัจจุบันมากทีเดียว

     โดยธรรมชาติเเพทย์เพื่อชุมชน ควรมีที่มาของการคัดเลือกที่เเตกต่างจากเเพทย์สายปกติ มี กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นชุมชนเป็นฐาน มีการประเมินผลที่เน้นความร่วมมือ เเละการทำงานเป็นทีม มีกรอบเเผนชีวิต การเรียนต่อหลังจบปริญญา ที่จะเสริมให้สามารถทำงานในชุมชนได้อย่างดี รายละเอียด ของการผลิตเเพทย์เพื่อชุมชน มีประเด็นพิจารณา 5 ประเด็นดังนี้

1. กระบวนการคัดเลือก
     มีหลักฐานทางวิชาการมากมายที่เเสดงว่า การคัดเลือกนักเรียนจากชุมชนห่างไกล จะทำให้นักเรียนนั้นเมื่อจบเป็นเเพทย์เเล้ว จะกลับเข้าไปทำงานในชุมชน การคัดเลือกไม่ควรเอาเเต่คะเเนนทางวิชาการอย่างเดียวมาเป็นตัวตัดสิน เเต่นักศึกษาเเพทย์กลุ่มนี้ ควรมีความรู้ความสามารถเพียงระดับนึง ที่สามารถเรียนเเพทย์ได้ ส่วนคะเเนนที่เหลือควรมาจาก คุณลักษณะ ทางด้านสังคม ชุมชน จิตใจ อารมณ์ เเละเจตคติที่ดีต่อการเป็นเเพทย์เพื่อสังคม ดังนั้น โรงเรียนเเพทย์ทั้งคณะเเพทย์ เเละ ศูนย์เเพทย์ จำเป็นต้องเอาชนะความท้าทาย ในการจัดระบบการสอบคัดเลือกที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้นักเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเข้ามาเรียน

2. Outcomes หรือ Competencies ที่พึงประสงค์ของเเพทย์เพื่อชุมชน 
     ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เเพทย์เพื่อชุมชนควรจะมีสมรรถนะ ในการเป็น competent clinician มีความเป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีมได้ดี มีความอยากเรียนรู้ต่อเนื่อง มีทักษะทาง IT and Media ที่ดี  เข้าใจบริบทของชุมชน มีทักษะในการสื่อสาร มีคุณธรรมจริยธรรม เเละมีทักษะการบริหารอีกด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับ competencies 6 ข้อ ในเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพของแพทยสภา ปี 2555 เพียงเเต่ โรงเรียนเเพทย์ทั้งคณะเเพทย์ เเละ ศูนย์เเพทย์ จะต้องเอาชนะความท้าทายในการจัดหลักสูตรที่มีความจำเพาะเป็นพิเศษ ให้นักศึกษาเเพทย์กลุ่มนี้ได้มีเวลาที่มากพอ ในการพัฒนาสมรรถนะข้อที่พึงประสงค์ ซึ่งนักเรียนเเพทย์กลุ่มอื่นอาจจะไม่ต้องได้รับการเน้น เหมือนนักเรียนกลุ่มนี้

3. หลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
     เนื้อหาหลักสูตร เเพทย์เพื่อชุมชน ควรมี early community exposure เเละต้องมีกิจกรรมกับชุมชนที่มากพอ ต่อเนื่อง จนสร้างความผูกพัน หรือ ที่เรียกว่า community engagement  ลักษณะการเรียนรู้ควรเป็นเเบบ การมีประสบการณ์ตรงหรือ experiential learning อาจใช้เป็น project based, health intervention หรือ community development และจะต้องมีรายวิชาที่เรียนร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ด้วย การเรียนการสอนในชุมชนในหัวข้อต่างๆที่นานพอ จะทำให้นักเรียนเห็นแบบอย่างที่ดีของเเพทย์ในชุมชน เป็นความประทับใจที่จะทำให้ต้องการเป็นเเพทย์ในชุมชนที่ดีในอนาคต ดังนั้น โรงเรียนเเพทย์ทั้งคณะเเพทย์ เเละ ศูนย์เเพทย์ จะต้องเอาชนะความท้าทาย ในการที่จะต้องทำความเข้าใจกับอาจารย์เเพทย์ในสถาบันให้ นักเรียนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในชุมชนในรายวิชาต่างๆเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังต้องจัดการพัฒนาอาจารย์เเพทย์ สำหรับครูเเพทย์ในชุมชน เพื่อให้กระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง

4. การประเมินผล
     การประเมินผลควรเป็นแบบ authentic assessment ประเมินจากการปฏิบัติงานจริง ควรมีการใช้นวตกรรมการประเมินผลอย่างเหมาะสม เช่น project based หรือ portfolio การตัดเกรดควรใช้ระบบ MPL หรือ minimum passing level ซึ่งเป็นหลักการของ competency-based education ทำให้ลดการเเข่งขัน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถทุ่มเทเวลากับการเรียนเเบบมีส่วนร่วมเเละ ทำงานเป็นทีมมากขึ้น การประเมินผลควรเน้น เรื่องคะเเนนกลุ่ม ประเมินการมีส่วนร่วม เเละคะเเนน team work ด้วย จึงจะเป็นการส่งเสริม นักเรียนให้ทำงานเป็นทีมจริง
     การสอบ national license อาจจะต้องมีการปรับ หากหลักสูตรมีการจัดสรรเวลาเรียนมากขึ้นสำหรับ การเป็นเเพทย์เพื่อชุมชนจริง การสอบ national license อาจจะปรับเหลือเพียงการประเมิน core knowledge and skills ซึ่งเเพทย์ทุกสายจะต้องมีความรู้เเละหัตถการที่จำเป็น  เหมือนๆกัน ส่วน องค์ความรู้เเละทักษะที่เน้นเกี่ยวกับชุมชน ให้ประเมินโดยคณะ เเต่มีการกำกับเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างสมำเสมอ

5. การจัดการเรียนรู้หลังปริญญา
     การเป็นเเพทย์เพื่อชุมชน คงไม่ได้จบการศึกษาเเค่เพียงระดับปริญญา การจัด internship ของเเพทย์เพื่อชุมชนเหล่านี้ก็มีความพิเศษด้วยเช่นกัน คือจำเป็นต้องเน้นการเรียนรู้เรื่องหัตถการที่จำเป็น เเละ ทักษะการชุมชนให้มาก การปฏิบัติงานในระยะ internship อาจจะต้องอยู่ในชุนชนมากถึง 1 ใน 2 หรือ 2 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด ส่วน การเรียนรู้หลังปริญญา อาจจะต้องกำหนดให้ เรียน family medicine เพื่อจะได้มีทักษะ ที่เหมาะสมในการเป็นเเพทย์ของชุมชนในระยะยาวต่อไป

โดยสรุป 
     เมื่อเป็นที่ยอมรับว่า คุณลักษณะของเเพทย์เพื่อชุมชนมีความเเตกต่างจากเเพทย์สายปกติ การคัดเลือกผู้เข้าเรียนที่เเตกต่างกันเท่านั้นจึงไม่เพียงพอ ในการสร้างเเพทย์เพื่อชุมชนที่มีประสิทธิภาพ การจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องคำนึงตั้งเเต่ เทคนิกวิธีการคัดเลือก outcome หรือ compertency ที่พึงประสงค์ หลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน การประเมินผล การจัดการเรียนรู้หลังปริญญา ทั้งนี้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเเพทย์ทุกภาคส่วนต้องมีความเข้าใจร่วมกัน เเละพยายามเปลี่ยนเเปลงกระบวนการต่างๆเพื่อให้ได้ เเพทย์เพื่อชุมชนอย่างเเท้จริง

Rajin Arora, MD

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม