Run Journal Club ไม่ให้หลับได้อย่างไร ?

อาทิตย์ก่อนมีอาจารย์เเพทย์ท่านหนึ่ง message มาถามคำถามคับข้องใจว่า จะจัดกิจกรรม Journal Club ให้น้องนักศึกษาเเพทย์อย่างไรให้น่าสนใจ จึงขออนุญาตตอบอาจารย์ไปยาวๆตามนี้ เเละขออนุญาตนำมาเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นณ.ที่นี้ด้วย เผื่อมีไอเดียดีๆที่สามารถนำไปใช้ทำให้ Journal Club ของเราสนุก ตื่นเต้น น่าสนใจได้อีก

ก่อนจัดการเรียนการสอนทุกหัวข้อ อันที่จริงอาจารย์ต้องถามคำถามสำคัญก่อนว่า เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้เเล้ว เราต้องการให้นักเรียนได้อะไร

เมื่อมาดู basic outcome ที่นักเรียนควรจะได้จาก Journal Club เเล้ว คำตอบที่น่าจะเป็นเอกฉันท์คือ น้องๆควรได้รู้จักการค้นคว้า การอ่าน research paper เพื่อให้รู้ว่า การเเพทย์ของเราพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ความรู้ที่อยู่ในตำราที่น้องๆเรียนตอนนี้นั้น อาจจะไม่พอที่จะเเก้ปัญหาคนไข้ในอนาคต ดังนั้นน้องๆจึงต้องฝึกทักษะ ในการค้นคว้า การอ่าน ทำความเข้าใจ เเละที่สำคัญทักษะ critical appraisal ให้ชำนาญ

ทีนี้น้องนักศึกษา หรือ เเพทย์ใหม่ มีอยู่หลายระดับ เราอาจจะต้องมากำหนดละเอียดลงไปอีกนิดว่า ผู้อ่านผู้ฟัง Journal Club ของเราวันนั้นอยู่ในระดับใด ซึ่งระดับความยากง่ายคงจะไม่เหมือนกันทุกครั้งไป การอ่าน Journal Club เเม้จะทำไม่กี่ครั้งในชีวิตของการเป็นนักศึกษาเเพทย์ เเต่จะเป็นประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจได้นานเเสนนาน ดังนั้นจึงไม่ควรทำให้จืดชืด เเบบขอไปที ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการจัดกิจกรรม Journal Club น่าจะอยู่ที่ขั้นตอน “Pre Op” หรือการเตรียมก่อนอ่าน research paper เเต่ละเรื่อง
เราจะต้องมีการสร้างความอยากรู้อยากเห็น ให้นักเรียนก่อน (อย่าคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองในนักศึกษาเเพทย์ไทย) ควรมีการร่วมกันกำหนด knowledge gap กับผู้เรียนใหัชัดเจน ซึ่งขั้นตอนนี้มักจะถูกละเลยอยู่เสมอ เพราะ ส่วนมาก Journal Club จะกลายเป็นกิจกรรม routine ที่อาจารย์อาจจะหาหัวข้อเรื่องให้กับนักเรียนตามความสนใจของตัวเอง หรือนักเรียนอาจจะหามาเองโดยไม่รู้ความสำคัญของเรื่องๆนั้น

ที่ควรเป็นคือ ควรเริ่มต้นที่คนไข้ อาจจะเป็นคนไข้ที่นักเรียนเคยเจอ หรือ คนไข้ที่เราเจอกันบ่อยๆ เเล้วชวนคิดว่า
  1. อันที่จริงความรู้ที่เรามี ก็เเก้ปัญหาให้คนไข้ได้ระดับหนึ่ง เเต่บางทีการวินิจฉัยโรคก็ไม่ตรงไปตรงมา ปัจจุบันมีการพัฒนาการวินิจฉัยอะไรใหม่ๆหรือไม่ (Diagnostic Research)
  2. โรคนี้มักมีการรักษาที่หลากหลาย ปัจจุบันมีการเปรียบเทียบการรักษาเเบบต่างๆให้เราได้เลือกหรือไม่ (Therapeutic Research)
  3. บางครั้งเราอาจจะเน้นเรื่องการส่งตรวจเพิ่มเติม (Investigation Research) ได้ ว่ามีเทคโนโลยีการส่งวินิจฉัยด้วยเครื่องมือใหม่ๆอะไรบ้าง น่าเชื่อถือมากกว่าเดิมอย่างไร
  4. บางครั้งการอ่าน paper ก็อาจจะเป็นการลงลึกถึงสาเหตุการเกิดโรคได้ (Etiology Research)
  5. อื่นๆ ก็ยังอาจจะมี research paper ที่เป็นเรื่องการส่งเสริมป้องกันด้วยก็ได้ (Prevention & Promotion Research)
เมื่อมีการตกลงเลือกเรื่องกันเช่นนี้เเล้ว ก่อนอ่าน paper ทุกครั้ง ผู้อ่านควรจะเล่า background สั้นๆให้ผู้ฟังฟังก่อนว่า ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เราเป็นอย่างไร เเละอะไรคือ knowledge gap ของเรื่องนี้ จากนั้นชวนให้ลองมาติดตามกันดู ว่า paper นี้จะช่วยตอบคำถามเราได้บ้างหรือไม่
เมื่อเริ่มได้เช่นนี้เเล้ว ผู้ฟังก็จะตั้งใจฟัง ไม่หลับ เเละ เมื่ออ่าน paper นั้นเสร็จ ก็ควรให้เเต่ละคนได้ discuss ว่า เห็นด้วยหรือไม่ กับข้อสรุปของ paper ดังกล่าว
จากนั้นชวนคิดต่อว่า paper นี้ได้เติมเต็ม knowledge gap ของเราหรือไม่อย่างไร โดยหากผู้ฟังอยู่ในระดับชั้นที่สูงอาจจะชวนคิดเรื่องการทำวิจัยต่อยอดจาก paper นี้ได้ด้วย ว่าจะทำกันอย่างไร
สุดท้าย ผู้ฟังก็ควรร่วมกันสรุปว่า จากกิจกรรม Journal Club ในวันนี้ เราได้ take home message อะไร

หากสามารถทำ กิจกรรม Journal Club ได้น่าติดตามเเละประทับใจเช่นนี้ทุกครั้งเเล้ว เชื่อได้ว่า จะสามารถสร้าง life long learning habit ให้น้องหมอรุ่นใหม่ของเราได้อย่างเเน่นอน อีกทั้งยังสามารถสร้างทักษะ critical appraisal ให้น้องๆได้ด้วย โดยในระยะยาวเรายังหวังว่า น้องๆรุ่นใหม่เหล่านี้จะมี “เชื้อขี้สงสัย” จนเป็นนักวิจัยที่สร้างงานวิจัยจากปัญหางานประจำได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
CR:
https://goo.gl/images/1G4fFS
https://goo.gl/images/gi2xww
https://goo.gl/images/jVBYqH
https://goo.gl/images/cUAcN3
https://goo.gl/images/xfS2K8

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม