ประวัติศาสตร์การค้นพบเชื้อโรคเเละวิวัฒนาการการรักษาโรคติดเชื้อ

หมอๆอย่างเราจะเป็นเยี่ยงไร หากวันนี้ไม่มี Antibiotics ให้พวกเราใช้?
..... ความเป็น “เทพ” ของพวกเราคงจะลดฮวบลงไปอย่างน่าใจหาย

หมอสูติ หมอศัลย์ หมอเมด หมอเด็ก จะ “ทำหน้า” อย่างไร ถ้าไม่สามารถอธิบายกระบวนการเนื้อเน่า ขาเน่า มดลูกเน่าได้ เหตุเพียงเพราะ ไม่มีใครรู้จัก “เชื้อโรค” 





ความก้าวหน้าทางการเเพทย์ของ “ออเจ้า” คงจะได้ย้อนกลับไปอยู่สมัยพระนารายณ์จริงๆ
คราวนี้เเม่การะเกดก็ไม่สามารถช่วยคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆให้เราได้ เพราะ ในยุคสมัยพระนารายณ์นั้น Leeuwenhoek เเละ Robert Hooke กำลังริเริ่มเอากล้องจุลทรรศน์มาส่องสิ่งที่เรา "มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น" อยู่เลย

หลังจากนั้นอีก 200 ปี Robert Koch จึงจะสามารถพิสูจน์ให้เราเห็นได้ว่า “เชื้อ” ตัวเล็กๆ ที่เห็นในกล้องจุลทรรศน์เหล่านั้น ทำให้เกิด “โรค” ได้

ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา คุณหมอยอดนักเขียน Pop Science ที่กรุณาค้นคว้า เเละเขียนบรรยายเล่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์การค้นพบเชื้อโรคเเละวิวัฒนาการการรักษาโรคติดเชื้อ ให้เราเป็นอย่างดี อ่านเเล้วสนุกจนวางไม่ลง เเละคิดว่า น้องๆนักศึกษาเเพทย์ Resident, Fellow เเละอาจารย์เเพทย์ทุกท่านควรจะได้สัมผัสหนังสือเล่มนี้สักครั้ง



ในหนังสือเราจะได้เรียนรู้ความวิริยะอุตสาห์ของปรมาจารย์ทางการเเพทย์ของโลกหลายท่าน ที่เเม้จะมี passion ในการเฝ้าศึกษาค้นคว้างานใน field ของตนเหมือนๆกัน เเต่ไม่น่าเชื่อว่า อุปนิสัยใจคอ บุคลิกภาพของเเต่ละท่านที่เเตกต่างกันจะส่งผล ให้เกิดการยอมรับเเนวคิดต่างๆในวงกว้างได้ไม่เหมือนกัน

หนังสือเเสดงให้เห็นถึงความ “ชอกช้ำ” ของ Dr Ignaz Semmelweis หมอหนุ่มที่พาทุกคนล้างมือก่อนตรวจคนไข้ จนทำให้ bed fever ของรพ. เวียนนา ลดลงอย่างมาก จากสถานการณ์ที่หญิงตั้งครรภ์ชาวเวียนนา พยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมมาคลอดที่รพ. เพราะ มีโอกาสตายมากกว่าคลอดอยู่ที่บ้าน การล้างมือของ Dr Semmelweis ทำให้วงการเเพทย์ของเราได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างมาก





เเต่เมื่อมองจากมุมวิชาการ การล้างมือของ Dr Semmelweis กลับไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพราะไม่สามารถอธิบายกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังได้ว่า ล้างมือเเล้วสามารถลด bed fever ลงได้อย่างไร เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีใครเคยเห็น “เชื้อโรค” เเละไม่รู้ว่า “เชื้อ”เหล่านี้ทำให้เกิด “โรค” ได้อย่างไร โดยเฉพาะไม่รู้ว่า การล้างมือง่ายๆคือการกำจัด “เชื้อโรค” ได้ดีที่สุด


จึงเข้าใจได้ ว่าเเพทย์ต่างๆอาจจะไม่ยอมรับการล้างมือได้โดยง่าย เเต่น่าเสียดายที่ปฏิกิริยาของ Dr Semmelweis ต่อการไม่ยอมรับนี้ คือการโกรธ เเละดูถูกว่ากล่าวเพื่อนเเพทย์เหล่านั้นว่าโง่ ไม่รักคนไข้ ไม่ยอมพัฒนาตนเอง จนสุดท้าย Dr Semmelweis เอง ก็อยู่รพ. เวียนนาต่อไปไม่ได้ เเละการล้างมือที่เป็นนวตกรรมที่ง่ายเเสนง่ายนี้ ก็ไม่ได้รับการยอมรับเเละนำเอามาปฏิบัติต่อ นานพอสมควร

สถานการณ์กลับตรงข้ามสำหรับ Dr Joseph Lister เเพทย์ชาวอังกฤษที่ได้ทดลองใช้ กรดคาบอลิคอย่างอ่อนในการฆ่าเชื้อของเเผลต่างๆ รวมทั้งฉีดบางๆบนผิวหนังก่อนการผ่าตัด

เมื่อเค้าพบว่า การใช้กรดคาบอลิคอย่างอ่อนสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เค้าก็เที่ยวนำเสนอผลงานทางวิชาการไปทั่ว เเต่การตอบรับจากเเพทย์ร่วมวิชาชีพขณะนั้นคือ การไม่เชื่อว่าวิธีการนี้จะได้ผล เเละเเพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ปฏิบัติตาม

เเต่ปฏิกิริยาของ Lister กลับไม่เหมือน Semmelweis คือ เค้าใจเย็น สงบเสงี่ยม ก้มหน้าก้มตา ทดลองการฆ่าเชื้อของตนเองต่อไป เเละค่อยๆพยายามหาคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์ เเละ ค่อยๆนำเสนองานวิชาการของตัวเองไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย Lister ได้รับการยอมรับ เเละวงการเเพทย์อังกฤษให้การยกย่อง Lister อย่างมาก


 ในหนังสือ เราจะได้เห็นความไม่ลดละพยายามของ หมอบ้านนอกอย่าง Rober Koch ผู้ที่มี passion ในการค้นคว้า การเพาะเลี้ยงเชื้อ microorganisms ต่างๆ เเต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ในวงการวิชาการ จึงทำให้ต้องพัฒนาประดิษฐ์อุปกรณ์ของตัวเองขึ้นมาเอง เเละจำเป็นจะต้องเดินทางเเสนไกล เพื่อไปนำเสนองานกับอาจารย์เเพทย์ผู้มีชื่อเสียงในขณะนั้น



หนังสือยังเล่าถึงการค้นพบ Pennicillin ของ Alexander Fleming ที่เป็นเรื่องราวจริงๆ ที่อาจจะไม่เหมือนนิยายชวนฝันเเบบที่เราเคยฟัง

เพื่อเป็นการไม่สปอยหนังสือ ..... สรุปว่า หนังสือเล่มนี้นอกจากจะให้ข้อมูลการค้นพบเชื้อโรค เเละวิวัฒนาการของการรักษาโรคติดเชื้อเเล้ว ยังให้มุมมองของคุณลักษณะของปรมาจารย์ในวงการเเพทย์เเต่ละท่าน ว่ามีความฉลาด ความมุ่งมั่นในการค้นหาคำตอบที่ตนสงสัยอย่างไร


อีกทั้งยังเเสดงให้เห็นว่า ปรมาจารย์เเต่ละท่านต้องอดทนกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การศึกษาวิจัยที่ไม่พร้อม การต้องเที่ยวเสาะหาความรู้จากเเหล่งต่างๆเพื่อมาต่อยอดความรู้ของตนเอง เเละการไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพในช่วงเเรกของการค้นพบเเนวทางใหม่ เข้าตำราว่า ..... เส้นทางของความสำเร็จไม่ได้ปูไว้ด้วยกลีบกุหลาบ นั่นเอง

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม