สถาบันการศึกษาแพทย์ “ในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน"

ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “อาคารไวทยรัตน์” ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโรงพยาบาลชัยภูมิ  นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งแก่โรงพยาบาลชัยภูมิ ตลอดจนคณะข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทุกคน



ตั้งเเต่ปี พ.ศ.2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เพื่อแก้ไขความขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ต่างๆในการร่วมผลิตแพทย์นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์  รวมทั้งสิ้น 37 ศูนย์ ซึ่งมี ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาโรงพยาบาลชัยภูมิ  เป็นศูนย์แพทย์ล่าสุด โดยเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มการผลิตแพทย์ และการกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทให้มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มโอกาสแก่นักเรียนในชนบทให้ได้ศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และกลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาเดิมของตน

ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2556 และเริ่มรับนักศึกษาแพทย์ในปีแรก 16 คน ต่อมาในปีพ.ศ.2557-2558 รับนักศึกษาแพทย์จำนวนชั้นปีละ 18 คน และในปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา มีการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นชั้นปีละ 20 คน  โดยทำการสอบคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6 ในเขตพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์

บัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ จะมีความรู้ความสามารถ ตามมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม และจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  โดยเน้นให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ  และมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบท โดยพร้อมที่จะให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกแก่ประชาชน

ที่ผ่านมาศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่ จัดตั้ง สถาบันการศึกษาแพทย์ “ในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” คือ 
  • มีการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในโรงพยาบาลที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก  ทำให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนรู้ในระบบสุขภาพที่เป็นชุมชนขนาดเล็กอย่างแท้จริง 
  • การเรียนการสอนดำเนินการโดยอาจารย์ที่เป็นแพทย์ในพื้นที่ ทำให้เข้าใจบริบท ทั้งทางด้านสุขภาวะ ด้านสังคม และ ด้านวัฒนธรรมของผู้ป่วย  
  • นักเรียนที่มาเรียนที่ ศูนย์แพทย์แห่งนี้ได้รับการคัดเลือกจากนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ และดำเนินการเรียนการสอนร่วมกับ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 
  • กิจกรรม การศึกษาต่างๆหลายด้าน ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก หน่วยงาน องค์กรและผู้มีอุปการคุณในพื้นที่จังหวัด ชัยภูมิ  

สิ่งเหล่านี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ สถาบันการศึกษา และ ตรงตามปรัชญาการเรียนการสอนบุคลากรทางสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ที่ เรียกร้องให้เกิด instructional reform และ institutional reform


ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิได้มีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอน และ การคัดเลือกเฟ้นหานักเรียนที่มีความสามารถเข้าเรียนแพทย์มาโดยตลอด โดยโครงการที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ของ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิ คือ โครงการ “ค่ายอยากเป็นหมอ” ซึ่ง ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในลักษณะ ให้มีการร่วมสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้ได้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เข้าเรียนแพทย์มากกว่าเดิมอย่างชัดเจน

ทาง สบพช และ กระทรวงสาธารณสุขขอชื่นชม ให้กำลังใจ และขอให้การสนับสนุนการดำเนินการ ของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลชัยภูมิให้ประสบความสำเร็จ และมีความก้าวหน้า เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการด้านการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทต่อไปในอนาคต

CR:
1. ข่าวพระราชสำนัก  ที่ชัยภูมิ 4. พ.ค.2560. https://youtu.be/SytDjXuNCrQ
2. http://cph.moph.go.th/c/project/fashion-gems


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม