สบพช 2560: องค์กรเเนวร่วมเเก้ไขปัญหา Inequity การศึกษาด้านเเพทย์ ของประเทศไทย

เนื่องด้วยวาระขึ้นปีใหม่ 2560 น่าจะถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เเลกเปลี่ยนเรื่องดีงามที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ปีนี้

ก็คงเหมือนบริษัทห้างร้านที่ถือโอกาสช่วงเปลี่ยนปีในการทบทวนองค์กรตัวเอง เเละหากลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรให้ดีขึ้นในปีต่อไป

ในต้นปี 2560 นี้ จึงขออนุญาตเเบ่งปันข้อมูล บทบาทเเละผลงานคร่าวๆของสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช) ในช่วง 22 ปี ที่ผ่านมา เพื่อให้ได้เกิดการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ เเละข้อเเนะนำในการพัฒนาสบพช ต่อไปในอนาคต ในฐานะสบพชเป็นเเฟนพันธุ์เเท้ เเนวร่วมการลดความเหลือ่มลำ้ ทางการศึกษา เเละการบริการทางการเเพทย์ของประเทศไทย

สบพช ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติครม. เมื่อปีพศ. 2537 เนื่องจากได้มีความร่วมมือในการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท หรือโครงการ CPIRD ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นจะต้องมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานด้านต่างๆ รวมทั้งบริหารจัดการงบประมาณที่จะต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 2 กระทรวง

โครงการ CPIRD เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2538 จำนวน 8 คน โดยคู่ความร่วมมือแรกคือ รพศ. ขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบในนามโครงการความร่วมมือนี้ทั้งสิ้น 16 รุ่น รวม 6,955 คน โดยมีแผนการรับนักศึกษาในปี 2560 อีกจำนวน 1,131 คน คิดเป็นร้อยละ 36.2 ของการรับนักศึกษาแพทย์ทั้งประเทศ ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าสู่โครงการใหม่ในปี 2561-2670 คือ โครงการผลิตเเพทย์เเห่งประเทศไทย ซึ่งมี โครงการย่อย 2 โครงการ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ โครงการร่วมผลิตเเพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขเเละกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงาน สบพช มีบุคลากรทั้งสิ้น 31 คน ข้าราชการ 7 อัตรา เป็นการยืมตัวปฏิบัติราชการทั้งสิ้น ไม่มีตำเเหน่งอยู่ที่องค์กรตัวเอง หน้าที่หลักของ สบพช คือ ประสานงานกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาล 37 แห่ง และคณะแพทย์คู่ความร่วมมือ 15 คณะ ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

ขอบเขตการประสานงาน ด้านต่างๆของ สบพช คือ
  • การจัดสรรโควตาการรับนักศึกษาตามเขตพื้นที่ภูมิลำเนา
  • การเตรียมนักเรียนมัธยมปลายที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา
  • การโอนและติดตามการใช้งบประมาณ
  • การจัดสรรบัณฑิตเข้าสู่เขตสุขภาพ
  • การติดตามบัณฑิตโครงการ
  • พัฒนากระบวนการคัดเลือกนักศึกษา
  • พัฒนาการเรียนการสอนและหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของกสธ
  • พัฒนาอาจารย์แพทย์ทั้งในและต่างประเทศ
  • พัฒนางานวิจัยทั้งด้านแพทยศาสตรศึกษาและงานวิจัยคลินิก
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนการบริหารงานและการวิจัย
  • พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
  • พัฒนาระบบเเพทย์พี่เลี้ยงโครงการ
  • พัฒนาศูนย์แพทย์ให้เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาสาขาต่างๆ
  • พัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ
งบประมาณที่สบพช ต้องดูเเลให้เครือข่ายผลิตเเพทย์ในโครงการ ของปี 2560 เท่ากับ 2,476 ล้านบาท แบ่งเป็น งบอุดหนุนรายหัวรวม 2,045 ล้านบาท และ งบลงทุนทั้งผูกพันและภายใน 1 ปี รวม 430 ล้านบาท ซึ่งสบพช ต้องบริหารจัดการในการโอนเเละกำกับติดตาม ไปยังหน่วยผลิตต่างๆทั้ง 2 กระทรวง

ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักศึกษา 16 รุ่นพบว่า จบการศึกษา ร้อยละ 99.6 สอบผ่าน national license ทั้ง 3 ตอนของแพทยสภา ร้อยละ 99.4 และได้รับเกียรตินิยม ร้อยละ 8.5 ในการบรรจุเเพทย์ใหม่ของ กสธ ในปี 2559 สบพช สามารถจัดสรรบัณฑิตจากโครงการเข้าประจำการในกสธ ได้ 1,046 คน คิดเป็นร้อยละ 49.3 ของแพทย์ใหม่ทั้งหมดใน กสธ

การพัฒนานักศึกษาที่ผ่านมาสบพช พยายามประสานศูนย์เเพทย์ต่างๆให้ดำเนินการ ตามเเนวทาง CPIRD DNA คือ
  • C Community bonded การผูกพันกับชุมชน เเละบ้านเกิด
  • P Passion to learn and work better มีความฝักใฝ่ที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ 
  • I  Integrity ความซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ 
  • R Responsibility ความรับผิดชอบต่อการทำงานในภูมิลำเนา เเละรับผิดชอบพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ
  • D Dignity ความภาคภูมิใจในการเป็นเเพทย์ของเเผ่นดิน เจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระบรมราชชนก


จากผลการติดตามบัณฑิตพบว่า ร้อยละ 81.5 ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในกสธ โดย ร้อยละ 96.0 ปฏิบัติงานอยู่ในเขตสุขภาพที่เป็นภูมิลำเนา และร้อยละ 77.9 ปฏิบัติงานอยู่ใน รพช ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่ได้สนับสนุนโครงการ CPIRD มาโดยตลอด

สบพช ได้พยายามเสนอการพัฒนาให้เป็นหน่วยงานหลักในกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง เเต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เเม้ผู้ใหญ่ในกระทรวงหลายท่านจะพยายามผลักดันอย่างเต็มที่  โดยหน่วยงานใหม่นี้จะไม่เพิ่มจำนวนบุคลากร เเต่สามารถมีการกำหนดตำเเหน่งให้ข้าราชการเเละพนักงานราชการ บรรจุอยู่ในองค์กรตามที่ปฏิบัติงานจริงได้ ซึ่งจะทำให้เป็นองค์กรมืออาชีพ ในการดำเนินการร่วมผลิตเเพทย์ทั้ง undergraduate เเละ postgraduate เป็นงานหลัก ไม่ได้เป็นเพียงสำนักงานบริหารโครงการไปทีละ 5-10 ปี เช่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจได้ว่า การผลิตบุคลากรทางสุขภาพเเบบคู่ความร่วมมือนี้สามารถเป็นไปได้ การเเก้ปัญหาด้านจำนวนความขาดเเคลนไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะ สาขาเเพทย์ได้ทำให้เห็นเเล้วว่า ทำได้สำเร็จ เเม้จะยังมีความขาดเเคลนที่จะต้องเติมเต็มต่อไป

ความท้าทายในอนาคตคงจะอยู่ที่การกระจายให้ดี เเละการสร้างความผูกพันให้กับเเพทย์ไม่ว่าที่จะจบใหม่หรือประจำการเเล้วให้ผูกพันกับองค์กร ชุมชนเเละประชาชน จะได้อยู่ปฏิบัติงานดูเเลคนไข้ในภูมิลำเนาตนเองได้นานๆ สอดคล้องกับนโยบายเสริมสร้างความเเข็งเเกร่งให้ระบบบริการปฐมภูมิ หรือ Primary Care Cluster ในปัจจุบัน

ดังนั้นเมื่อได้ทบทวนอดีตอันยาวนานกับตัวละครที่ชื่อ สบพช ในวงการเเพทยศาสตรศึกษาไทยเเล้ว ต้องขอขอบพระคุณทุกท่าน ทั้งในส่วนกระทรวงสาธารณสุขเเละทางฝั่งมหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกัน "รุ่นต่อรุ่น" ในการช่วยกันทำให้โครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเเพทย์ของไทยพัฒนาขึ้นมาได้โดยลำดับ  

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม