การถามคำถามนักเรียน



     ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ตั้งเเต่เปิดการเรียนการสอน course ECME (Essential Course for Medical Educator) เข้ามาเป็นปีที่ 2 เเล้ว จะมีผู้สนใจเเพทยศาสตรศึกษาเเบบเอาจริงเอาจัง คอยเมล์มาถามคำถามอยู่เรื่อยๆ เเละประเด็นที่เอามาเล่าสู่กันฟังวันนี้ ก็มาจากเมล์ฉบับหนึ่ง ของผู้เรียนหลักสูตร ECME รุ่น 2 ที่พึ่งเปิดเทอมไปหมาดๆ ถามคำถามที่ เป็น basic process of education มากๆ คือ "เราจะถามคำถามกับผู้เรียนอย่างไรดีให้มีประสิทธิผล" จริงๆอาจารย์ท่านนี้เริ่มด้วย การถามว่าทำไมนักเรียนถึงไม่ชอบถามคำถาม เเต่เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เเละต้องมีเวลาอธิบายยืดยาว จึงขอยกยอดไปตอบกันโอกาสหน้า

     วันนี้จึงเอาเฉพาะว่า ถ้าเราคิดจะถามคำถามนักเรียน เราจะถามกันอย่างไร
อันที่จริงพวกเราเหล่าอาจารย์เเพทย์ ต้องช่วยๆกันถามนักเรียนมากๆนะครับ เพราะถ้าเราถามกันบ่อยๆจนเค้าสนุก เเละเริ่มคิดเป็นเเล้ว นักเรียนเค้าจะเริ่มถามคำถามเราเองครับ เมื่อวันนั้นมาถึง เหล่าคณาจารย์อาจจะลำบากกว่านี้ก็ได้นะครับ เพราะบางครั้ง คำถามของนักเรียนก็ยากที่จะตอบจริงๆ

     การตั้งคำถามนักเรียน นี่ ทาง med ed ถือว่ามีความสำคัญมากครับ เป็นทั้งศาสตร์เเละศิลป์ เพราะ บางทีอาจารย์บางท่านรู้เทคนิคการถามคำถามทุกอย่างเเล้ว เเต่ทำไม่เป็น ก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คาดไว้

     วัตถุประสงค์การถามคำถามมี 2 ประการครับ
1. เป็นการถามเพื่อประเมินความรู้ 
เราทำกัน 2 เวลาคือ ถามก่อนสอนเเละถามหลังสอน
1.1 การถามเพื่อประเมินความรู้ก่อนสอน 
เราถามเพื่อ เราจะได้รู้ว่า พื้นฐานความรู้ของนักเรียนเป็นเช่นไร เราจะได้จัดวางความรู้ใหม่ให้พอเหมาะพอดี ไม่ assume มากเกินไปว่า น้องๆเค้ารู้เเล้ว หรือประเมินเค้าต่ำไปว่า เค้ายังไม่รู้ อันนี้เข้ากับทฤษฎีทางการศึกษายุคใหม่ที่เรียกว่า constructivism ซึ่งรายละเอียดเป็นอย่างไร ว่างๆจะเล่าให้ฟังครับ
1.2 การถามเพื่อประเมินความรู้หลังสอน 
อันนี้ชัดเจนว่า เพื่อเป็นการประเมินว่า หลังจากเรียนกับเราเเล้ว เค้าเข้าใจในสิ่งที่เราสอนนั้นหรือไม่

2. การถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักการศึกษาพยายามเเนะนำให้อาจารย์เเพทย์ใช้เป็นอย่างมาก เพราะ หลักการเรียนรู้ที่เเท้จริงคือ ผู้เรียนจะเป็นผู้สรรหาความรู้ของตนเอง เพื่อตนเอง โดยตนเอง ซึ่งมีอาจารย์ เป็นผู้คอยชี้เเนะ หรือ facilitator เท่านั้น ซึ่งวิธีการ facilitate ที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งคือ การตั้งคำถาม หรือ questioning นั่นเอง การถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้มีการถาม 3 เวลา คือ ถามก่อนสอน ถามขณะสอน เเละถามหลังสอน

2.1 การถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ก่อนสอน
การถามก่อนสอนนอกจากจะได้ประโยชน์ในการประเมินความรู้พื้นฐานของผู้เรียนตาม 1.1 เเล้ว การถามก่อนสอนจะทำให้ผู้เรียน ตื่นตัว พร้อมรับความรู้ใหม่ ภาษาทางการศึกษาเรียก schema activation เป็นสิ่งที่ควรจะทำทุกครั้งก่อนที่อาจารย์จะเริ่มให้ความรู้ใดๆเเก่ศิษย์ หากเปรียบอาจารย์เป็นเมฆฝนที่อุ้มน้ำอันชุ่มฉ่ำ พร้อมจะโปรยปรายความรู้ให้ศิษย์ได้อิ่มเอิบกับความรู้ เเต่น้ำฝนทีตกลงมานั้นจะไม่มีทางเข้าโอ่งของนักเรียนได้เลย หากเราไม่ถามคำถามให้นักเรียนตื่นตัว ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดฝาโอ่งออก เพื่อรับน้ำฝนความรู้ดังกล่าว

2.2 การถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ระหว่างสอน
การถามระหว่างสอนไม่ได้เน้นจะต้องการประเมินความรู้ที่พึ่งสอนออกไป เเต่เป็นการถามเพื่อ guide เข้าสู่เนื้อหา part ต่อๆไปมากกว่า การถามลักษณะนี้ เป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน โดยจะถามเพื่อให้ นักเรียนเกิดความสงสัย เเละรู้สึกอึดอัดว่า ความรู้ที่ได้จากการเรียน part ก่อนยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ถามได้ เเต่พอได้เรียนเนื้อหา part ต่อไปก็จะรู้สึกโล่ง ว่าสามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ทีเเรกได้ การจัดเรียงเนื้อหาให้ได้เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ด้วย ตรงกับสิ่งที่ทางการศึกษาเรียกว่า schema construction

2.3 การถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้หลังสอน
จริงอยู่ ที่เราอาจจะให้ความสำคัญกับการถามหลังสอนนี้ เพื่อจะได้ทราบว่า นักเรียน รู้หรือไม่รู้ตามข้อ 1.2 เเต่การถามในข้อ 2.3 นี้เป็นการที่เราถาม เพื่อเป็นการปิดฝาโอ่งของศิษย์ นั่นคือ การถามหลังเรียน มีประโยชน์คือ ช่วยให้นักเรียน ได้ช่วยกันสรุปบทเรียนที่ได้เรียนมา  ในทางการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะ จะทำให้ความรู้มีการจัดเก็บชัดเจน ภาษาการศึกษาเรียกขั้นตอนนี้ว่า schema refinement การที่ นักเรียน เเต่ละคน ช่วยกันสรุปเเต่ละประเด็น ทำให้คนอื่นๆได้รับความรู้รอบสองไปด้วยในตัว เเละต่างคนต่างจะได้ประเมินตนเองด้วยว่า เพื่อนๆที่เรียนพร้อมกันทุกอย่างนั้น เพื่อนคนอื่นได้อะไรมากกว่าตนเองหรือไม่ นักเรียนยังจะเกิดความมั่นใจเเละเกิด practical knowledge ในระยะ schema refinement นี้ด้วย


     เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ของการคำถามทางการศึกษาเเล้ว ก็มาดูวิธีการถามคำถามบ้าง การถามคำถามที่เราใช้ประจำคือ การถามเรื่องที่ basic กว่าเรื่องที่เราจะสอน คือการถาม เพื่อให้ได้ข้อ 1.1 เเละ 2.1 นั่นเอง มีคำกล่าวว่า หากเราถามเเล้ว นักเรียน ตอบไม่ได้ เเปลว่าเรายังถามไม่ดีพอ อันนี้เห็นจะเป็นจริง ดังนั้น เราต้องพร้อมที่จะ reframe question คือปรับการใช้คำเพื่อให้นักเรียน เข้าใจได้ง่ายขึ้น เเละต้องพร้อมที่จะ ลด level ความรู้ของคำถามลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่นักเรียนของเราตอบได้ เช่น จะสอนเรื่อง ภาวะมีบุตรยาก เราคงไม่เริ่มด้วยการถามอะไรยากๆเกี่ยวกับ disease ต่างๆของ  infertility เเต่เราควรจะทำ schema activation เกี่ยวกับ anatomy and physiology of fertility เราต้องการให้ นักเรียน เปิดฝาโอ่ง เเละถือเป็นการประเมินความรู้พื้นฐานไปด้วยในตัว เราอาจจะถามว่า “คนเราท้องได้อย่างไร” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักเรียน ต้องตอบได้อยู่เเล้ว ส่วนมากก็จะช่วยกันไล่ anatomy of reproductive system เเละกระบวนการที่จะทำให้เกิด conception เเต่บางครั้งถ้าเห็นนักเรียน อ้ำๆอึ้งๆ ก็ต้อง guide ด้วย นิดหน่อยก็ยังดี เเละถ้าเค้าเกร็งต้องทราบว่านักเรียนเค้ากลัว ก็ต้องทำบรรยากาศให้  friendly เหมือนที่บอกข้างต้นว่า การตั้งคำถามเป็นศาสตร์เเละศิลป์ ดังนั้น การสร้างบรรยากาศเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการถามนักเรียน

     ถ้าหากเราต้องการถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียนจริงๆ จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศไม่ให้ threatening นักเรียนก็จะพยายามตอบเอง เเต่หากสร้างบรรากาศให้เป็นเหมือนการประเมินผล เอาคะเเนนมาขู่ หรือมีการด่าว่า เหน็บเเนม อาจจะเพราะต้องการจะ stress นักเรียนบ้างเเล้ว นักเรียนอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ เเละเกิดอาการ shut down ไปได้

     คำถามที่เราใช้บ่อยๆกันอีกอย่างคือ การถามเเบบ 1.2 เเละ 2.3 คือ ถามหลังจากสอนข้างเตียงเรียบร้อย หรือ round ward หรือ ตรวจคนไข้ด้วยกันที่ OPD เรียบร้อย เรามักจะถามนักเรียนว่า วันนี้ที่ได้เรียนรู้ด้วยกันมา น้องได้อะไรบ้าง เอาประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพียงเเค่ 1 ประเด็น ไม่เอาเยอะนะครับ หรือ อาจจะถามว่าถ้าวันนี้ขาดเรียนไปจะเสียดายมากว่า จะไม่รู้ประเด็นนี้เลย ให้บอกมาคนละ 1 ประเด็น นักเรียนก็จะชอบตอบมาก เเละไม่เคยเกิดการ shut down เลย เหตุผลส่วนหนึ่งเป็น เพราะ การสร้างบรรยากาศการถามที่ให้เกียรติการเรียนรู้ของเเต่ละคน เเละคำถามที่ค่อนข้าง open นี้ นักเรียน จะรู้สึกปลอดภัยไม่ถูก threaten ในการตอบ

     เทคนิคต่างๆที่เห็นใช้กันเป็นประจำสำหรับเเพทย์เรา คือการถาม ตาม clinical reasoning process ต่างๆ เช่นถามเรื่อง การซักประวิติ ตรวจร่างกาย investigation, treatment, prognosis and prevention คำถามพวกนี้ อาจารย์เเพทย์ทุกท่านก็คงจะถามกันเป็นประจำ เเต่ถ้าใส่เทคนิคการถามเข้าไปนิด น่าจะทำให้นักเรียนสนุกเเละท้าทายขึ้น เช่น เวลาถามเรื่องประวัติ ก็ให้ถามว่า ไหนลองบอกว่าจะซักประวัติอะไรบ้าง ให้ตอบคนละ 3 ข้อไม่เกิน หรืออาจจะให้ถามคนละข้อ เเต่ให้เรียงจากซ้ายมาขวา หรือให้ถามคนละข้อ เริ่มจากคนที่ไม่ใช่เจ้าของเคสก่อน หรือถามคนละข้อ ใครตอบเร็วกว่าให้ตอบมา หรือ ถามคนละข้อ เริ่มจากคนที่มา OPD เช้าที่สุดวันนั้นเป็นต้น ทั้งหมดทั้งปวงเป็นการสร้างสีสัน สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับนักเรียน generation Y โดยมีการเเหย่นิดหน่อย มีการให้เเข่งขันนิดๆ จะทำให้นักเรียน สนใจมากขึ้น

     การตรวจร่างกายก็เช่นเดียวกัน ก่อนตรวจร่างกายก็ให้ถาม most likely diagnosis and differential diagnosis ก่อน อาจจะอธิบายให้เค้าฟังว่า การตรวจร่างกายก็คือ การไปหากุญเเจที่หาย  หากเราไม่ถาม most likely diagnosis and differential diagnosis ก่อน เค้าก็จะไม่เห็นภาพว่า กุญเเจที่หายไปนั้นหน้าตาเป็นเช่นไร ทำให้เค้ามักจะหากันไม่เจอ เเต่การที่พอจะรู้ diagnosis จากการซักประวัติจะทำให้เค้าจะสามารถหากุญเเจนั้น หรือ abnormal finding นั้นจาก physical exam ได้ง่ายขึ้น

     คำถามลักษณะอื่นๆ ก็เช่น คำถามเชิงเปรียบเทียบ เช่น หลังจากเรียนรู้เรื่อง ปวดท้องน้อยเฉียบพลันเเล้ว มีโรคที่เข้าข่ายต้อง differential อยู่ 4 โรคเป็นประจำ คือ acute PID, twisted ovarian cyst, ruptured ovarian cyst เเละ ectopic pregnancy เราก็อาจจะถามให้ นักเรียน ตอบว่า ทั้ง 4 โรคนี้มี finding อะไรที่เหมือนกัน อะไรบ้างที่บางโรคมี บางโรคไม่มีก็ได้ นักเรียนก็จะสนุกในการเรียนมากขึ้น ด้วยคำถามที่มีคุณค่าของเรา

     สรุป เราน่าจะต้องรู้วัตถุประสงค์การถามคำถามของเราก่อน ว่าเพื่ออยากรู้ status ความรู้ของนักเรียนเท่านั้น หรืออยากจะกระตุ้นการเรียนรู้ของเค้าด้วย จากนั้นก็สร้างบรรยากาศให้เหมาะสม เเละเริ่มลองฝึกตั้งคำถาม เเละปรับไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะคล่องขึ้น เเละสนุกกับการสอนที่เป็น question-guided facilitation ครับ

Rajin Arora MD.



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม