Platoo Medical Education and Medical Education Baab Poo Poo
สวัสดีพี่ๆน้องๆผู้สนใจเเพทยศาสตรศึกษาทุกท่าน ห่างหายกันไปประมาณ 3 อาทิตย์นะครับ จริงๆ ความคิดที่อยากเอามาเขียนน่ะเยอะครับ เเต่งานที่ถาโถมเข้ามานั้นเเยะกว่า พูดภาษาง่ายๆก็คือ ไม่มีเวลาครับ เอาเป็นว่า ต่อจากนี้ไปจะพยายามเขียนบอกเล่าเก้าสิบให้พวกเราได้ทราบเรื่องราวต่างๆเป็นประจำ อาจจะประมาณ 1-2 อาทิตย์ครั้ง ก็ตามเเต่กาลวิสัยเเละภาระงานนะครับ
วันนี้อยากจะเล่าเรื่อง เเพทยศาสตรศึกษาเเบบ Platoo เเละ เเพทยศาสตรศึกษาเเบบ Poo Poo ให้ฟังครับ บางท่านคงเริ่มสงสัยว่า คำว่า Platoo เเละ Poo Poo นี่มันมีอยู่ในสารระบบของ เเพทยศาสตรศึกษาด้วยจริงหรือ ก็ขอเฉลยตั้งเเต่ตอนนี้เลยว่า Platoo จริงๆ ก็คือ "ปลาทู" อาหารหลักประจำชาติของชาวไทย เเละ Poo Poo ก็คือ "ปูๆ" สัตว์ที่เดินไม่มีระเบียบชอบโย้กโย้โยเย เดินเกเรไปทั่วนั่นเเละครับ เเต่ขอออกตัวไว้ก่อนว่า คำหลังนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองร้อนๆช่วงนี้เเต่อย่างใด
เหตุที่ทำให้ต้องมาเล่า เเพทยศาสตรศึกษาเเบบ Platoo เเละ เเพทยศาสตรศึกษาเเบบ Poo Poo นี่ก็เพราะ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางคณะผู้บริหารจากสำนักบริหารโครงการผลิตเเพทย์เพื่อชาวนบท (สบพช) ได้มีการไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเราไปเชื่อมความสัมพันธ์อันดี กับ Kyoto University เเละเรามีเเผนการที่จะลงนาม MOU (Memorandum of Understanding) ระหว่างกันด้วย ซึ่งรายละเอียดของความร่วมมือเเละสัมพันธไมตรีระหว่าง CPIRD เเละ Kyoto University นั้นขอนำไปเล่าในอีกหัวข้อหนึ่งเร็วๆนี้
เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น คุณไกด์ที่น่ารักของเราก็เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นให้เราฟัง ซึ่งต้องขอให้เครดิตคุณไกด์ของเรามา ณ. ที่นี้ ที่เรียกอุปนิสัยการทำงานการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น ว่าเป็นเเบบ ปลาทูอยู่ในเข่ง ส่วนของคนไทยเราเป็นเหมือน ปูๆ ที่ไม่ยอมอยู่ในกระด้ง เริ่มตั้งเเต่การที่คนญี่ปุ่นเค้ามีนิสัยชอบทำตามกฏเกณฑ์ ตามระะเบียบทุกอย่าง เค้าจะทำเป็น pattern เดียวกันไปหมด คิดจนละเอียด ลงลึกถึงเเก่นสารของสิ่งต่างๆ ก่อนตัดสินใจ เเละเมื่อตัดสินใจจะทำอะไรเเล้ว ก็จะมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นให้บรรลุผลสำเร็จจงได้ ทั้งนี้เพราะมีหน้าตาชื่อเสียงของตัวเองผูกติดกับผลงานเหล่านั้นด้วย ว่ากันว่า ในญี่ปุ่น เค้าต้องการคนที่คิดสิ่งใหม่ๆ เเละมีนิสัยเป็นผู้นำเพียงเเค่ 5% ของประชากรเท่านั้น ที่เหลืออีก 95% พร้อมจะเป็นผู้ตามที่ดี เปรียบไปก็เหมือน ปลาทูหลายๆตัวอยู่ในเข่งที่เรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อยนั่นเอง กล่าวมาถึงตอนนี้เเล้ว คงไม่ต้องสาธยายคุณสมบัติคนไทย ว่าเเตกต่างกับคนญี่ปุ่นมากมายอย่างไร เเต่เปรียบง่ายๆก็เหมือน ปู ที่ต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างเก่ง ไม่ค่อยมีใครฟังใคร เเละเวลาเดินก็พากันเดินบิดเบี้ยวไปมา ไม่เป็นเเถวเป็นเเนวอย่างที่ควรจะเป็น สรุปว่า คนญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับคนไทยตัวต่อตัวอาจจะเเพ้คนไทย ในเรื่องความเก่งกาจ การทำงาน เเต่เมื่อเทียบกันเป็นทีมต่อทีมเเล้ว คนญี่ปุ่นจะทิ้งห่างคนไทยอย่างไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว
ทีนี้หลายท่านอาจจะเริ่มสงสัยเเล้วว่า เกี่ยวอะไรกับ เเพทยศาสตรศึกษา จึงก็ขอตอบว่า มีความเกี่ยวข้องกันมากทีเดียว เพราะ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีพี่น้องชาว ECME (Essential Course for Medical Educator) ของเราหลายท่านมาปรึกษาว่า อยากไปดูงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น น่าสนใจหรือไม่ มาถามว่าทางเค้าโดดเด่นเรื่องอะไรที่เราควรจะไปดู ก็ขออนุญาตยกมาตอบใน blog นี้นะครับ
สิ่งที่พยายามจะบอกให้ทราบคือ หลังจากไปเยี่ยมชมระบบเเพทยศาสตรศึกษาของญี่ปุ่นมาเเล้ว 2 ครั้ง 3 มหาวิทยาลัย พบว่าเค้าเเทบไม่ใช้นวตกรรมทางการศึกษาเเบบประเทศตะวันตกเลย ส่วนรายละเอียดการจัดการศึกษาของเค้าจะสาธยายให้อ่านกันอีกครั้ง ในหัวข้อเเพทยศาสตรศึกษาของประเทศญี่ปุ่นนะครับ เเต่กล่าวในภาพรวมตอนนี้ก่อนว่า นวตกรรมทางการศึกษาต่างๆ ที่เราพยายามโน้มน้าว คะยั้นคะยอ หรือกำกับติดตามกันมากมายนั้น เเทบไม่มีให้เห็นในระบบเเพทยศาสตรศึกษาของญี่ปุ่นเลย
ครั้งก่อนที่ไปเยี่ยม University of Tokyo เเละ Tokyo Medical and Dental University (TMDU) นั้น ก็ได้ถามถึงคู่มือการเรียนรู้ของนศ เช่น log book ท่านก็บอกว่าท่านไม่ใช้ ทีเเรกยังฟังผิด log book ฟังเป็น notebook สร้างความครื้นเครงให้คณะศึกษาดูงานอีกต่างหาก ถามถึง portfolio ท่านก็บอกว่าดี เเต่เราก็ไม่ค่อยใช้ ถามถึงการสอบ license ท่านก็บอกว่าเราอนุมัติปริญญาพร้อมใบประกอบโรคศิลป์เลย เเต่มี national board exam อยู่ คือ มีการสอบ MCQ 500 ข้อ ผ่านระบบ คอมพิวเตอร์หรือ CBT (Computer-based Testing) ให้เวลาทำประมาณ 3 วัน ซึ่งสมกับเป็นชาวญี่ปุ่นจริงๆ เพราะต้องมีความมานะอุตสาหะอย่างมาก ไม่มีการสอบ long case หรือ MEQ อะไร ถามถึงการสอบเเบบ OSCE ท่านก็บอกว่ามีอยู่ ทางเราก็นึกว่าทำได้อย่างดีมี 30-40 ข้อ reliability สูงๆ เเต่ปรากฏว่ามีเพียง 8 ข้อเท่านั้น ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้เราชาวเเพทยศาสตรศึกษาเป็นอันมาก
ถามเรื่องระบบประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งคิดว่าน่าจะดีมากๆ เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี productivity and quality ที่สูง ผู้ตอบก็ตอบด้วยความงุนงงว่า QA นี่คืออะไร ซักพักใหญ่ๆถึงนึกได้ว่า มีคนมาเยี่ยมชมเเละให้ใบอนุมัติอะไรไว้ซักอย่างเมื่อ 7 ปีที่เเล้ว เอา slide powerpoint มาให้เราดู ว่าเป็น QA ที่ถามหรือไม่ ไปครั้งนี้เลยถามถึงรายละเอียดในการตรวจประเมินว่าเค้าทำกันอย่างไร สรุปได้คำตอบว่า มีหน่วยงานที่ดูเเลเรื่องนี้อยู่ เเละมีความมุ่งมั่นที่จะไปตรวจประเมินโรงเรียนเเพทย์ในญี่ปุ่นอย่างมาก โดยกำหนดไว้ว่าคณะกรรมการจะพยายามออกเยี่ยมโรงเรียนเเพทย์ให้ครบทุกที่ โดยออกเยี่ยมปีละหนึ่งเเห่งไปเรื่อยๆ เท่าที่ทราบคือโรงเรียนเเพทย์ในญี่ปุ่นมีอยู่ 80 โรง นั่นเเสดงว่า ต้องใช้เวลาถึง 80 ปี จึงจะตรวจเยี่ยมได้ครบหมด ล่าสุด มีการปรับปรุงองค์กรเรื่องประกันคุณภาพการศึกษามาได้ไม่กี่ปี เข้าใจว่ากำลังดูกันอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้ตรวจประเมินกันได้เร็วขึ้น เเละคงกำลังดูเรื่องเกณฑ์มาตรฐานด้วยว่า จะใช้ของใคร เพราะเห็นว่าพาดพิงถึงเรื่องมาตรฐาน WFME (World Federation of Medical Education) อยู่เหมือนกัน ในอันที่ว่าตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป โรงเรียน เเพทย์อเมริกาจะไม่รับเเพทย์จากต่างประเทศเข้า training ถ้าไม่จบจากโรงเรียนเเพทย์ที่ไม่ได้ผ่านมาตรฐานของ WFME
ทางคณะดูงานจากเมืองไทยถามเลยไปถึงปัญหา การฟ้องร้องร้องเรียนในประเทศญี่ปุ่น ว่ามากมายหรือไม่ ตอนถามใช้คำว่า suing suing เค้าก็ตอบว่า เยอะพอสมควร เเละเป็นปัญหาที่เราให้ความสำคัญเเละพยายามเเก้ไขกันอยู่ เเต่พอถามเจาะเข้าไปอีกนิด ว่าเป็นของ specialty ใดมากที่สุด ก็เริ่ม งงๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย สรุปก็ถึงบางอ้อว่า เค้าฟังผิด ฟัง suing เป็น suicide ก็เรียกเสียงฮาให้คณะศึกษาดูงานจาก ประเทศไทยได้อีกเช่นเคย สรุป เรื่องการฟ้องร้องหรือ legal sue ในทางการเเพทย์ของประเทศญี่ปุ่น เค้ามีน้อยมากๆ เพราะประชาชนให้ความศรัทธาในระบบบริการสุขภาพของประเทศ เเละเเพทย์เองก็มีวินัยมีความรับผิดชอบสูงในการดูเเลคนไข้ เราถามต่อถึง เเพทยสภาญี่ปุ่น ใช้คำว่า Japan Medical Council เค้าก็ไม่เข้าใจ ถามเค้าถึงองค์กรที่ดูเเลเเพทย์เวลาทำ malpractice เค้าก็บอกว่า เค้ามีประมาณ เเพทยสมาคม เเต่ปัญหาไม่มาก เเละไม่มีเเพทยสภา สรุปเมื่อเเพทย์กับคนไข้ต่างคนต่างให้เกียรติกัน ปัญหาก็เลยไม่เกิด
ทางคณะเราเมื่อฟังมาทั้งหมดดังข้างต้นเเล้ว ก็มีคำถามคาใจอยู่หนึ่งอย่าง จึงขออนุญาตถามให้ชัดเจนว่า ตกลงเท่าที่เราทราบมา ระบบการเเพทย์ของญี่ปุ่น เป็นระบบการเเพทย์ที่ดีมากที่สุดเเห่งหนึ่งของโลก คือดีตั้งเเต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ เเละตติยภูมิ มีการดูเเลคนไข้ long term care ที่ดี มีคุณภาพการรักษาดี การป้องกันโรคดี มีเเพทย์ที่มีฝึมือมีความเชี่ยวชาญระดับโลกมากมาย เเต่ท่านไม่ได้ใช้องค์ความรู้ทางเเพทยศาสตรศึกษาของประเทศตะวันตกในระบบการศึกษาเลยหรืออย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คิดว่าท่านทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะได้คำตอบอยู่ในใจเเล้วว่า เค้าจะตอบว่าอย่างไร โดยทั้ง 3 เเห่งที่ได้ไปดูงานตอบเหมือนๆกันคือ เค้ามี "คนที่มีคุณภาพ" คนของเค้ารู้หน้าที่ รู้ วัตถุประสงค์ชัดเจนว่ามาเรียนเเพทย์ต้องปฏิบิติตัวอย่างไร เค้ารู้กันชัดเจนว่าเค้าต้องขยัน มีความรับผิดชอบ เเละที่สำคัญเค้าพยายามสร้างผลงานที่ดีออกมา เพราะนั่นคือชื่อเสียงหน้าตาของเค้าเอง
สรุป วงการเเพทยศาสตรศึกษาของเราก็หนีไม่พ้นการเปรียบเทียบ เเพทยศาสตรศึกษาเเบบปลาทูเเละเเบบปูๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น หากท่านใดยังไม่เชื่ออยากจะเป็นดูให้เห็นด้วยตาของตนเอง ก็คงต้องจัดคณะไปศึกษาดูงานให้เห็นจริง เเล้วจะพบว่า ไปดูงานญี่ปุ่นได้ประโยชน์อย่างมากคือ ไปดูว่าเค้าไม่มีอะไรเเบบที่เราทำตั้งมากมาย เเต่เค้าก็ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าเรา
Rajin Arora MD.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น